การกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ
ความหมายของการกำกับดูแลกิจการ
องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic
Co-operation and Development: OECD) ได้ให้ความหมายของการกำกับดูแลกิจการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจัดการ คณะกรรมการ เจ้าของ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น และการกำกับดูแลกิจการช่วยให้เกิดโครงสร้างที่สำคัญ ซึ่งเป็นกลไกในการกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจการและการกำหนดวิธีที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของกิจการ
การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) คืออะไร
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ให้คำจำกัดความของการกำกับดูแลกิจการที่ดี หมายถึง การกำกับดูแลกิจการที่เป็นไปเพื่อการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งคณะกรรมการควรกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (Governance Outcome) อย่างน้อยดังต่อไปนี้
- สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว(Competitiveness and Performance with Long-term Perspective)
- ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย (Ethical and Responsible Business)
- เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (Good Corporate Citizenship)
- สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง (Corporate Resilience)
การจัดทำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอด โดยได้มีการจัดทำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2552 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้หลักการและแนวทางการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมีความสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่มี
การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นต้องมี
การปรับปรุงหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีคำสั่งที่ 2/2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาล
ในรัฐวิสาหกิจ (คณะอนุกรรมการฯ) สั่ง ณ วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561 ให้มีอำนาจหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคในการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบ
การกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม การปรับปรุงหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจได้มีการศึกษากรอบแนวคิดและหลักการกำกับดูแลที่ดีตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย
1) OECD 2) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาหรือธนาคารโลก (World Bank) 3) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ 4) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คนร. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ได้มีมติความเห็นชอบร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ ต่อมาคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบร่างหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสากิจ พ.ศ. .... เพื่อใช้แทนหลักการและแนวทางกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี 2552 โดยให้รัฐวิสาหกิจรวมถึงรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไป นำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ไปปฏิบัติและนำไปใช้กับบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจด้วย และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 โดย สคร. ได้ดำเนินการกำหนดหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 และแนวทางปฏิบัติ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายเรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น ๙ หมวด ดังนี้
การปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
การดำเนินการตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจฉบับนี้ คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจสามารถพิจารณาตามหลัก “Apply or Explain” คือ การให้คณะกรรมการ
ของรัฐวิสาหกิจนำหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ไปปรับใช้ตามที่เหมาะสมกับการบริหารจัดการและกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยหากกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจมีบทบัญญัติในเรื่องเดียวกันกับหลักการและแนวทาง
การกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ฉบับนี้ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มีความเข้มงวดกว่าในกรณีที่คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพิจารณาแล้วเห็นว่า การกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจที่มีในปัจจุบันหรือกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือบริบทของรัฐวิสาหกิจยังไม่สอดคล้องกับหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ให้ดำเนินการดังนี้
- ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพิจารณาปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจที่มี
ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 - ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ในเรื่องใดได้ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพิจารณาจัดให้มีแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติทดแทนที่เหมาะสมเพื่อให้รัฐวิสาหกิจยังคงมีการกำกับดูแลกิจการ
ที่ดีในเรื่องดังกล่าว พร้อมจัดทำบันทึกเหตุผลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพิจารณาความเหมาะสมในการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 - ในกรณีที่บริบทของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน ทำให้ยังไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการและแนวทาง
การกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ในเรื่องใดได้ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจพิจารณา
จัดให้มีแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติทดแทนที่เหมาะสม เพื่อให้รัฐวิสาหกิจยังคงมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีในเรื่องดังกล่าว พร้อมจัดทำบันทึกเหตุผลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 และกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามหลักการและแนวทางที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจกำหนดระยะเวลาที่รัฐวิสาหกิจจะมีความพร้อมเพียงพอต่อการปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ในเรื่องดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจควรพิจารณาทบทวนการปฏิบัติตามหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี พ.ศ. 2562 อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และบันทึกการพิจารณาทบทวนข้างต้นไว้เป็นส่วนหนึ่งของมติคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งเปิดเผยข้อมูลในรายงานประจำปีและนำส่งให้กระทรวงการคลังโดย สคร. ทราบต่อไป
หลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 และแนวทางปฏิบัติ (ไฟล์)