สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

หลักการระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ



โครงสร้างของระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
:: 30/03/2553 ::
ส่วนที่ 1: บันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (Performance Agreement)

เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดตัวแปรและเป้าหมายในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปี และกำหนดสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน โดยในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งบันทึกข้อตกลงฯ จะเป็นไปอย่างอิสระและเป็นธรรม และเป็นการวัดผลการดำเนินงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเท่านั้น

นอกจากนี้เพื่อให้การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปในแนวเดียวกัน และเปรียบเทียบกับรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะธุรกรรมคล้ายคลึงกันได้ จึงมีการพิจารณาจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจออกเป็นสาขา โดยคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละสาขา แสดงได้ดังรูป

alt
รูปการแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจแยกเป็นรายสาขา

รายชื่อรัฐวิสาหกิจในระบบประเมินผลฯ แบ่งตามสาขา
1 สาขาขนส่ง จำนวน 10 แห่ง
1.1 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
1.2 การรถไฟแห่งประเทศไทย
1.3 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
1.4 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
1.5 บริษัท ขนส่ง จำกัด
1.6 การท่าเรือแห่งประเทศไทย
1.7 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
1.8 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
1.9 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
1.10 สถาบันการบินพลเรือน

2 สาขาพลังงาน จำนวน 4 แห่ง
2.1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
2.2 การไฟฟ้านครหลวง
2.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2.4 บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน)

3 สาขาสื่อสาร จำนวน 4 แห่ง
3.1 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
3.2 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
3.3 บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
3.4 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

4 สาขาสาธารณูปการ จำนวน 6 แห่ง
4.1 การประปานครหลวง
4.2 การประปาส่วนภูมิภาค
4.3 องค์การจัดการน้ำเสีย
4.4 การเคหะแห่งชาติ
4.5 บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด
4.6 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

5 สาขาอุตสาหกรรมและพานิชยกรรม จำนวน 7 แห่ง
5.1 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
5.2 โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต
5.3 องค์การสุรา กรมสรรพสามิต
5.4 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
5.5 โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
5.6 บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด
5.7 องค์การตลาด

6 สาขาเกษตร จำนวน 6 แห่ง
6.1 องค์การสะพานปลา
6.2 องค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ
6.3 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร
6.4 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
6.5 องค์การสวนยาง
6.6 องค์การคลังสินค้า

7 สาขาทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง
7.1 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
7.2 องค์การสวนพฤกษศาสตร์
7.3 องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

8 สาขาสังคมและเทคโนโลยี จำนวน 5 แห่ง
8.1 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ
8.2 องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
8.3 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
8.4 การกีฬาแห่งประเทศไทย
8.5 องค์การเภสัชกรรม

9 สาขาสถาบันการเงิน จำนวน 10 แห่ง
9.1 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
9.2 ธนาคารออมสิน
9.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
9.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ
9.5 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าฯ
9.6 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมฯ
9.7 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
9.8 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมฯ
9.9 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
9.10 สำนักงานธนานเคราะห์
 

การจัดทำบันทึกข้อตกลงการประเมินผลฯ จะประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: การกำหนดตัวแปรการประเมินผลงาน (Performance Criteria)
ระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันจะกำหนดตัวแปรเพื่อวัดประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใน 3 ด้าน หลัก ๆ ดังนี้

1) การดำเนินงานตามนโยบาย
2) ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
- Financial
- Non-Financial
3) การบริหารจัดการองค์กร
- การบริหารจัดการของบทบาทคณะกรรมการ
- การควบคุมภายใน
- การตรวจสอบภายใน
- การบริหารจัดการสารสนเทศ
- การบริหารทรัพยากรบุคคล

ทั้งนี้ สำหรับรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตามกฎหมาย ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระเบียบและวิธีการที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ในการประเมินผลการดำเนินงาน จึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงแตกต่างกันไว้ ดังนี้

1) รัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Listed SOEs)
กระทรวงการคลังจะประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายเฉพาะผลการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดทางการเงิน และไม่ใช่การเงิน โดยจะมุ่งเน้นตัวชี้วัดที่เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานของธุรกิจ/อุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะพิจารณาประเมินผลการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Rating)
2) รัฐวิสาหกิจที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Non-Listed SOEs)
กระทรวงการคลังจะใช้ระบบการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น ในการประเมินผล


ขั้นตอนที่ 2: การกำหนดน้ำหนักหรือความสำคัญของตัวแปร (Criterion Weight)
ตัวแปรการประเมินผลงานที่กำหนดขึ้น ประมาณไม่เกิน 10 ตัวแปร มีความสำคัญต่อผลการดำเนินงานไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องกำหนดน้ำหนักความสำคัญของแต่ละตัวแปรในระดับที่แตกต่างกัน โดยตัวแปรที่สำคัญจะมีน้ำหนักมากกว่า
การกำหนดน้ำหนักหรือความสำคัญของตัวแปร จะทำให้ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจสามารถบริหารให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล โดยรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ จะเน้นกำไรมากกว่ารัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ซึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินการในด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ คุณภาพของการให้บริการโดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) การดำเนินงานตามนโยบาย น้ำหนักร้อยละ 20-30
2) ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ น้ำหนักร้อยละ 40-50
3) การบริหารจัดการองค์กร น้ำหนักร้อยละ 30

กลุ่ม/ประเภทรัฐวิสาหกิจ

เกณฑ์และน้ำหนักการประเมินผล

1. รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ

• ผลการดำเนินงาน ร้อยละ 70
• การบริหารจัดการองค์กร ร้อยละ 30

2.รัฐวิสาหกิจที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

• การประเมินดำเนินงานตามนโยบาย ร้อยละ 20
(+- 10)
• ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 50
(+- 10)
• การบริหารจัดการองค์กร ร้อยละ 30


ขั้นตอนที่ 3 : การกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานสำหรับแต่ละตัวแปร (Criterion Value)

ในแต่ละตัวแปรจะมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ 1 ถึง ระดับ 5 เป้าหมายระดับ 5 จะเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนวิสาหกิจประจำปี รัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้นที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายในระดับ 5 ได้ เป้าหมายระดับ 3 เป็นเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ตามแผนวิสาหกิจ และเป้าหมายระดับ 1 เป็นเป้าหมายที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนวิสาหกิจมาก
ในการกำหนดเป้าหมายในแต่ละปี ผู้แทนฝ่ายรัฐจะพิจารณาจากการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาเป็นฐาน และจะเปรียบเทียบกับมาตรฐานการดำเนินงานของภาคเอกชนและมาตรฐานสากล เพื่อที่จะพยายามผลักดันให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงการดำเนินงานให้สามารถเทียบเคียงได้กับภาคเอกชน ถึงแม้ว่าการปรับปรุงมาตรฐานอาจจะทำไม่ได้ภายในปีเดียวแต่การผลักดันเป้าหมายให้สูงขึ้นทุก ๆ ปี จะเป็นการผลักดันให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนที่ 2: ระบบแรงจูงใจหรือค่าตอบแทน (Incentive System)

เพื่อให้ระบบประเมินผลฯ เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ ผู้บริหารสูงสุด และพนักงานลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ประกอบกับผลกำไรสุทธิของรัฐวิสาหกิจก็มิใช่เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของรัฐวิสาหกิจ แต่ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือผลงานโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การพิจารณาค่าตอบแทน ควรขึ้นกับระดับผลงานจริงที่ถูกประเมินได้ตามบันทึกข้อตกลงฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ระบบประเมินผลฯ ใช้บังคับอย่างได้ผลเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย กระทบต่อผลตอบแทน ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับในปัจจุบันน้อยที่สุด และเสริมขวัญและกำลังใจแก่คณะกรรมการและพนักงานของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานมีผลงานจริงตามบันทึกข้อตกลงฯ อยู่ในระดับดีมากหรือดีเยี่ยมแต่มีผลขาดทุน จึงเห็น สมควรกำหนดรูปแบบค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่เป็นตัวเงินสัมพันธ์กับระดับผลงานดังนี้

1) ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน คือ ระบบโบนัสของพนักงานลูกจ้างและคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
2) ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน
2.1) ระบบการประกาศจัดอันดับผลงานจริงของรัฐวิสาหกิจประจำปีตามระบบ
ประเมินผลงาน
2.2) ระบบการให้ความอิสระในการบริหารงาน (การยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีของทางราชการ) เป็นการทั่วไปหรือให้ความอิสระตามระดับผลงานจริง
รายละเอียดของการระบบแรงจูงใจปัจจุบัน

ส่วนที่ 3: วิธีการและขั้นตอนในการดำเนินการระบบประเมินผล

ขั้นที่ 1 รัฐวิสาหกิจเสนอแผนธุรกิจ / แผนกลยุทธ์ / แผนวิสาหกิจ ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และกระทรวงเจ้าสังกัด

ขั้นที่ 2 คณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจรายสาขา)
กระทรวงการคลัง โดย สคร. คณะกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาแผนธุรกิจ / แผนกลยุทธ์ / แผนวิสาหกิจ เพื่อกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนักและเป้าหมาย

ขั้นที่ 3 กระทรวงการคลัง โดย สคร. จะแจ้งผลการกำหนดตัวชี้วัด น้ำหนัก และเป้าหมายในการประเมินผลการดำเนินงานให้รัฐวิสาหกิจทราบ เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ

ขั้นที่ 4 รัฐวิสาหกิจรายงานผลการดำเนินงานรายไตรมาส และรายปีต่อกระทรวงการคลัง โดย สคร. และคณะกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพ

ขั้นที่ 5 คณะกรรมการประเมินผลฯ รับทราบผลการดำเนินงานครึ่งปีและ ณ สิ้นปีบัญชีของรัฐวิสาหกิจ

ขั้นที่ 6 รายงานผลการดำเนินงานประจำปีของรัฐวิสาหกิจเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบ

 

ที่มาของระบบประเมินผล
:: 30/03/2553 ::

รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งในด้านการพัฒนาระบบบริการสาธารณะ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ  พร้อมทั้งยกระดับความอยู่ดีมีสุขให้ประชาชนในประเทศ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจึงมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กร และประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพของรัฐวิสาหกิจให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล สามารถก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันในตลาดโลกและมีความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อปี 2538 เห็นชอบให้นำระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจมาใช้ เพื่อติดตามและกำกับดูแลประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยมีการเชื่อมโยงเข้ากับระบบแรงจูงใจของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ระบบประเมินผลฯ ได้เริ่มนำมาใช้ในปี 2539 และได้มีการทยอยนำรัฐวิสาหกิจเข้าระบบประเมินผลฯ เรื่อยมาจนปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจอยู่ในระบบประเมินผลฯทั้งสิ้น 55 แห่ง
ในปี 2547 ได้มีการกำหนดเกณฑ์การประเมินผลฯ ในหัวข้อการบริหารจัดการองค์กรขึ้น เพื่อผลักดันให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาระบบการบริหารจัดการขององค์กรในด้านต่างๆ ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรระดับสากล อันจะส่งผลให้รัฐวิสาหกิจสามารถบรรลุผลการดำเนินงานตามที่คาดหวังไว้ ทั้งนี้ ได้คัดเลือกกระบวนงานหลัก 5 หัวข้อ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการบริหารจัดการองค์กร มาเป็นหัวข้อพิจารณาประเมินผล อันประกอบด้วย

1. บทบาทของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
2. การบริหารความเสี่ยง
3. การควบคุมและตรวจสอบภายใน
4. การบริหารจัดการสารสนเทศ
5. การบริหารทรัพยากรบุคคล

ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่รับผิดชอบการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ในระบบประเมินผล

หลักการการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ

- จัดทำบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (Performance Agreement) สำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งก่อนเริ่มปีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดตัวแปรและเป้าหมายในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปี บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าวต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ลงนาม โดยปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจและปลัดกระทรวงการคลังในนามของรัฐบาล และประธานคณะกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจในนามของรัฐวิสาหกิจ

- คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจเป็นผู้กำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในบันทึก
ข้อตกลงฯ โดยรัฐจะผ่อนคลาย กฎ ระเบียบ ต่าง ๆ เป็นการทั่วไป และ/หรือผ่อนคลายตามระดับผลงานจริง เพื่อให้รัฐวิสาหกิจบริหารงานได้คล่องตัวขึ้น

- ในการกำหนดตัวแปรและเป้าหมายในการดำเนินการ รัฐจะคำนึงถึงลักษณะของแต่ละรัฐวิสาหกิจ และกำหนดตัวแปรซึ่งครอบคลุมด้านสำคัญทุกด้านรวมถึงคุณภาพในการบริการ และเป็นผลงานที่รัฐต้องการจากรัฐวิสาหกิจซึ่งการพิจารณากำหนดตัวแปรและเป้าหมายจะคำนึงถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ

- ในการประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจในตอนสิ้นปี จะแบ่งผลงานของรัฐวิสาหกิจออกเป็น 5 ระดับ (คะแนน 1-5) และ มีการกำหนดระบบผลตอบแทนที่สะท้อนระดับผลการดำเนินงาน รัฐวิสาหกิจใดดำเนินการได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงฯ จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า

- ให้ประเมินผลงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจโดยใช้ตัวแปรชุดเดียวกันกับการประเมินผลงานของรัฐวิสาหกิจ ตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าว

เอกสารแนบ
1. คู่มือระบบประเมินผล
2. เกณฑ์การประเมินผลฯ การปริหารจัดการองค์กร ประจำปี 2552


นโยบายเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ | นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ |
นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
chevron up